บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ตอกย้ำความสำเร็จของครึ่งปีแรก ตามวิสัยทัศน์ใหม่ “พาร์ตเนอร์ด้านพลังงานสีเขียว และโครงสร้างพื้นฐานแบบครบวงจรแห่งภูมิภาคเอเชีย” พร้อมเปิดกลยุทธ์ครึ่งหลังของปี 2568 เสริมแกร่งสร้าง Resilient Growth ให้ 3 ธุรกิจหลัก คาดเตรียมเซ็นสัญญา PPA เพิ่ม 180 เมกะวัตต์ และเข้าประมูลโครงการก่อสร้าง EPC ไฟฟ้าขนาดใหญ่หลายโครงการ มูลค่ากว่า 11,000 ล้านบาท มั่นใจตั้งเป้ารายได้เติบโต 10-15% รายได้รวมใน 3 ปี เติบโตกว่า 35,000 ล้านบาท
คุณนฤชล ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) กล่าวว่า “นับตั้งแต่ขึ้นรับตำแหน่งซีอีโอในเดือนมีนาคม 2568 ที่ผ่านมา พร้อมด้วยการมุ่งสู่วิสัยทัศน์ใหม่ ที่มุ่งเน้นในการสร้างความแข็งแกร่งให้กล้ามเนื้อทางธุรกิจ และเตรียมความพร้อมรับมืออย่างมียุทธศาสตร์จากปัจจัยภายนอก ทั้งจากสถานการณ์โลก ความผันผวนของเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการสร้าง Resilient Growth ให้บริษัทฯ เติบโตอย่างมั่นคง รวมไปถึงดูแลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและสังคมอย่างยั่งยืน ซึ่งมองว่าครึ่งแรกของปี 2568 ประสบความสำเร็จเป็นไปตามโรดแมพ ภายใต้การบริหารจัดการต้นทุนอย่างชาญฉลาด ส่งผลให้บริษัทสามารถที่จะปันผลเฉพาะกาลได้ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ สำหรับแผนการดำเนินงานครึ่งหลังของปี 2568 ยังคงเดินหน้าตามกลยุทธ์ สมการความก้าวหน้า ผลักดันธุรกิจ 3 ด้านอย่างบูรณาการ โดยมีแผนงานดังนี้
- ธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานสีเขียว (Green Power) จากความสำเร็จในครึ่งแรกของปี ที่ขยายกำลัง การผลิตไฟฟ้าพลังงานสีเขียวอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะลงนามสัญญาโครงการซื้อขายไฟฟ้า (PPA) 180 เมกะวัตต์ จากภาครัฐในเวลาอันใกล้นี้ รวมไปถึงโครงการโซลาร์ฟาร์มและวินด์ฟาร์มเพิ่มเติมอีก 319 เมกะวัตต์ ที่ยังรอความชัดเจนเพิ่มเติม ซึ่งหากเป็นไปตามที่คาดการณ์ จะส่งผลให้ GUNKUL มีโรงไฟฟ้าพลังงานสีเขียวในพอร์ตโฟลิโอทั้งหมดรวม 1,579 เมกะวัตต์ และยังได้เตรียมพร้อมสำหรับแผนงานประมูลโครงการฯ PPA ใหม่ๆ ที่จะช่วยผลักดันอัตราส่วนพลังงานสะอาดของประเทศ ในขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าร่วมเป็นพาร์ทเนอร์กับภาคอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว โดยล่าสุดได้ร่วมมือกับพันธมิตรกับองค์กรชั้นนำ muRata ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของญี่ปุ่น เพื่อเตรียมดำเนินการด้าน Direct PPA ซึ่งสอดคล้องกับแผนการเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงานของประเทศ สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าต่างประเทศจากเดิมที่มีอยู่ในญี่ปุ่น มาเลเซีย และเวียดนาม บริษัทฯ วางแผนเจรจาโครงการในฟิลิปปินส์เพื่อขยายพอร์ตโฟลิโอพลังงานสีเขียวในต่างประเทศเพิ่มเติม
- ธุรกิจรับเหมาไฟฟ้า (EPC) ในช่วงครึ่งปีแรกได้มีลงนามสัญญากับ กฟผ. ในโครงการก่อสร้างสายส่ง ไฟฟ้าแรงสูง 500 กิโลโวลต์ มูลค่ากว่า 675 ล้านบาท เชื่อมต่อจากบางละมุง ถึงปลวกแดง ซึ่งในครึ่งปีหลัง ได้อยู่ในระหว่างการดำเนินเตรียมประมูลโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ (EPC) หลาย โครงการ รวมมูลค่ากว่า 11,000 ล้านบาท โครงการพัฒนาระบบเคเบิลใต้ทะเลขนาด 230 กิโลโวลต์ ไปยังเกาะสมุย โครงการพัฒนาระบบเคเบิลใต้ทะเล ในพื้นที่เกาะต่างๆ จำนวน 12 เกาะ รวมไปถึงโครงการก่อสร้างโซลาร์ฟาร์มและวินด์ฟาร์ม เป็นต้น โดยปัจจุบันมีจำนวนงานที่รอรับรู้รายได้ (Blacklog) กว่า 3,680 ล้านบาท
- ธุรกิจผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า (Manufacturing) มีแผนการสร้างการเติบโตของยอดขายในผลิตภัณฑ์เดิม และขยายฐานด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อาทิ กลุ่มอุปกรณ์โซลูชั่นอินเวอร์เตอร์ และแบตเตอรี่ ที่สามารถต่อยอดความสำเร็จจากช่วงครึ่งปีแรก โดย GUNKUL ได้รับการแต่งตั้งจาก SUNGROW ผู้นำรายใหญ่ระดับโลกในด้านกลุ่มธุรกิจด้านอุปกรณ์โซลาร์เซลล์ ให้เป็นผู้จัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการ (Tier 1 Distributor) ในประเทศไทย สำหรับอุปกรณ์โซลูชั่นอินเวอร์เตอร์และแบตเตอรี่ ที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างก้าวกระโดด
นอกจากแผนงานที่วางไว้อย่างเป็นรูปธรรมในครึ่งหลังของปี 2568 ยังมุ่งเน้นในเรื่องการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานภายในองค์กร เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถสร้างการเติบโตและผลกำไรที่ดี ตอบโจทย์ผู้ถือหุ้นและพาร์เนอร์ที่ให้ความไว้วางใจ GUNKUL เสมอ โดยใช้กลยุทธ์ Trim Operational Fat ปรับปรุงกระบวนการทำงาน เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการต้นทุนอย่างเหมาะสมเพื่อเปิดโอกาสในการต่อยอด New S-Curve อาทิ Green Data Center และบริการโครงสร้างพื้นฐานประเทศ Infrastructure Development หรือทำ Co-investment ลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ได้อย่างคล่องตัวที่สุด รวมถึงเฟ้นหาเทคโนโลยีที่จะมาช่วยเพิ่ม Productivity ในการทำงานซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการดูแลพนักงานด้วย
สำหรับปี 2568 นี้ บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 10-15% รายได้รวมใน 3 ปี เติบโตกว่า 35,000 ล้านบาท โดยในมิติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เราตระหนักถึงความเร่งด่วนของวิกฤติสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน และยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เพื่อมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่ยั่งยืน ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการพร้อมสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว ที่มุ่งไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เพิ่มศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมในไทย ในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในเวทีโลก