Brother ส่งเครื่องพิมพ์ผ้าดิจิทัล GTX และเครื่องพิมพ์ซับลิเมชั่น SP-1 หนุนซอฟต์พาวเวอร์ กรมราชทัณฑ์ เปลี่ยนความเชื่อให้กลายเป็นแฟชั่น พลิกโฉมลายสักสุดขลัง สู่อาชีพใหม่สร้างรายได้หลังเรือนจำ

Brother ผู้นำโซลูชันด้านการพิมพ์จากประเทศญี่ปุ่น ร่วมสนับสนุน โครงการ “ยันต์” (Yantra) โครงการนำร่องโดยกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ที่มุ่งขับเคลื่อนพลังของซอฟต์พาวเวอร์ไทย ผ่านศิลปะการสักยันต์ พลิกมรดกวัฒนธรรมโบราณให้กลายเป็นงานแฟชั่นร่วมสมัย โดยเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้แสดงศักยภาพด้านศิลปะ ออกแบบลวดลายต้นแบบที่มีความหมายทางจิตวิญญาณ สู่การต่อยอดเป็นคอลเลกชันเสื้อผ้าและสิ่งทอที่สามารถใช้งานได้จริง ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมการพิมพ์ Brother ได้สนับสนุนทั้งเทคโนโลยีและการถ่ายทอดความรู้ผ่าน เครื่องพิมพ์ผ้าดิจิทัล GTX และ เครื่องพิมพ์ซับลิเมชั่น SP-1 ที่รองรับงานพิมพ์คุณภาพสูงหลากหลายประเภท ให้ลวดลายที่ละเอียด คมชัด สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานศิลป์ของผู้ต้องขัง พร้อมต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ และสามารถสร้างอาชีพได้ในระยะยาว

นายธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “Brother ให้ความสำคัญกับการใช้ศักยภาพขององค์กรในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต สร้างโอกาส และพัฒนาทักษะให้แก่กลุ่มคนหลากหลาย โดยเฉพาะในมิติของซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศไทย และในฐานะที่เราเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมการพิมพ์ในระดับสากล จึงเล็งเห็นความสำคัญและได้เข้าร่วมสนับสนุนโครงการ ‘ยันต์’ (Yantra) ของกรมราชทัณฑ์ ผ่านการนำความเชี่ยวชาญ ทั้งองค์ความรู้ เครื่องมือ และเทคโนโลยีการพิมพ์ระดับมืออาชีพมาร่วมถ่ายทอดอย่างเต็มที่ เพื่อให้ผลงานทุกชิ้นที่ผู้ต้องขังออกแบบ สามารถสะท้อนแนวคิดและสื่อสารรายละเอียดของลายเส้นออกมาได้ครบถ้วนและสมบูรณ์แบบมากที่สุด ซึ่งสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของ Brother ในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาสังคมอย่างสร้างสรรค์ พร้อมทั้งผลักดันศักยภาพของกลุ่มเปราะบางให้สามารถก้าวสู่การมีอาชีพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ในอนาคต”

สำหรับโครงการ “ยันต์” มีแนวคิดริเริ่มโดย ดร. อมัจจ์ สมบูรณ์เจริญ ที่ปรึกษากรมราชทัณฑ์ โดยเน้นการส่งเสริมทักษะของผู้ต้องขังผ่าน การออกแบบลายสักต้นแบบ ซึ่งสะท้อนภูมิปัญญา ความเชื่อ และจินตนาการของไทย ก่อนนำมาต่อยอดเป็นแฟชั่นที่สวมใส่ได้จริง ร่วมกับ ARN Creative Studio และนักออกแบบรุ่นใหม่ สำเร็จ เก่งประสมทรัพย์ และ พันธุ์ทิตย์ ทินกร ณ อยุธยา ที่เข้ามาร่วมเวิร์กช็อปและพัฒนางานออกแบบจนกลายเป็นคอลเลกชันแฟชั่นร่วมสมัย โดยลวดลายที่ออกแบบในโครงการนี้ แบ่งออกเป็น 4 หมวดความเชื่อ ได้แก่ 1.มหาเสน่ห์สาลิกา (เมตตา มหานิยม) 2.โชคดี 3.สุขภาพดี (แคล้วคลาด) และ 4.ร่ำรวย ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากคติความเชื่อโบราณ ผสานกับการตีความใหม่ในเชิงศิลปะร่วมสมัย

 

 การร่วมโครงการในครั้งนี้ Brother ให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีการพิมพ์ และจัดอบรมการใช้งานเครื่องพิมพ์ผ้าระบบดิจิทัล (Direct to Garment) รุ่น GTX ที่โดดเด่นด้านคุณภาพการพิมพ์สูง สีสันสดคมชัด สามารถถ่ายทอดลวดลายความละเอียดขนาดเล็กได้แม่นยำ และผลิตงานได้รวดเร็ว รองรับงานแฟชั่นระดับมืออาชีพ พร้อมเครื่องพิมพ์ซับลิเมชั่น Brother SP-1 ซึ่งเหมาะกับการพิมพ์บนวัสดุหลากหลายประเภท โดยผลงานที่ถูกออกแบบนอกจากจะสามารถนำมาสกรีนให้อยู่บนเสื้อผ้าแล้วยังสามารถปรับเปลี่ยนให้ไปอยู่บนวัสดุประเภทต่างๆ อาทิ หมวก กระเป๋า แก้วน้ำ เคสโทรศัพท์ ปลอกหมอน ไปจนถึงของตกแต่งบ้าน โดยไม่ต้องกังวลเรื่องคุณภาพ เพราะมีคุณสมบัติสีติดทนนาน ไม่ซีดจาง ทำให้ลวดลายคมชัด แม้บนพื้นผิวเรียบหรือโค้ง รองรับการใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งช่วยขยายขอบเขตการผลิตสินค้าซอฟต์พาวเวอร์ไทยได้หลากหลายรูปแบบ เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างอาชีพ และต่อยอดรายได้ของผู้ต้องขังหลังพ้นโทษได้

“Brother เชื่อมั่นว่า การส่งเสริมศักยภาพคนในสังคมคือจุดเริ่มต้นของการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน โดยมุ่งหวังว่าการสนับสนุนโครงการร่วมกับกรมราชทัณฑ์ครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่แห่งโอกาสที่ช่วยเสริมสร้างคุณค่า ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน และสะท้อนภาพลักษณ์ของ Brother ในฐานะองค์กรที่พร้อมอยู่เคียงข้างและสนับสนุนทุกศักยภาพของคนไทย ตามปรัชญา ‘At your side’ อย่างแท้จริง” นายธีรวุธ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและผลิตภัณฑ์ของ Brother เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.brother.co.th รวมถึงช่องทาง Facebook / TikTok / YouTube / Instagram / X / Line Official: Brother Thailand

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *