งาน “GFT 2025” งานแสดงนวัตกรรมเทคโนโลยีเครื่องจักรปัก, เย็บ, พิมพ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, เครื่องจักรผลิตเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า, ผ้าและเส้นใยคุณสมบัติพิเศษ, ผู้รับผลิต (OEM), ซอฟต์แวร์ AI และวัสดุและอุปกรณ์ตกแต่ง ที่ครบครันที่สุดในอาเซียน ได้ฤกษ์เปิดฉากขึ้นแล้ววันนี้ ถึงวันที่ 26 กรกฎาคม ณ ฮอลล์ 100 ของศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค โดยการสนับสนุนของสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (THTI) และสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย (TGMA) เพื่อตอกย้ำถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ที่พร้อมขับเคลื่อนทุกอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าด้วยสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มสู่ยุคใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยนวัตกรรมและโอกาสทางธุรกิจ พร้อมทั้งการร่วมพูดคุยกับตัวแทนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ภายใต้หัวข้อ “สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยมองไปข้างหน้า: นวัตกรรม ซัพพลายเชน ความยั่งยืน และโอกาสใหม่ของผู้ประกอบการทุกระดับ ทุกอุตสาหกรรม”
ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (THTI) เผยว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นหนึ่งในเสาหลักของเศรษฐกิจไทย ด้วยบทบาทสำคัญด้านการจ้างงานและการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกมีมูลค่า 2,555.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.2% แม้จะเผชิญแรงกดดันจากมาตรการทางการค้าของประเทศคู่ค้าอย่างญี่ปุ่น จีน และเวียดนามผู้ประกอบการจึงต้องเร่งปรับตัวสู่ “Twin Transition” ทั้งด้านความยั่งยืนและเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การใช้โซเชียลมีเดียสร้างเครือข่ายลูกค้า และนำเทคโนโลยีมาปรับกระบวนการผลิต
ปัจจุบัน สิ่งทอไม่ได้จำกัดอยู่แค่แฟชัน แต่ขยายไปสู่การใช้งานหลากหลาย เช่น Smart Textiles ที่ผสานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, AI ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต, Circular Economy ที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน และ Technical Textiles สำหรับการแพทย์และสุขภาพ
นายไชยยศ รุ่งเจริญชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์มา คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้คิดค้นและผลิตผ้าระงับเชื้อแบคทีเรียในนาม Perma กล่าวถึงบทบาทและความสำคัญของสิ่งทออัจฉริยะหรือ Smart Textiles ว่า “Smart Textiles คือสิ่งทอที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มคุณสมบัติหรือมีการผสมผสานเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อให้ Smart Textiles สามารถทำงานร่วมกับเราหรือสิ่งรอบตัวเราได้ เช่น คุณสมบัติในการระงับเชื้อแบคทีเรีย ป้องกันไฟ ควบคุมอุณหภูมิ หรือความสามารถในการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ โดยใช้เทคโนโลยี IoT เข้ามาช่วยต่อยอดจากนวัตกรรมที่มีอยู่ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่มีมากกว่าแค่ฟังก์ชันพื้นฐาน ทำให้ Smart Textiles เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสบการณ์ใหม่ที่จะทำให้ชีวิตได้รับความสะดวกสบาย ปลอดภัย และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์เฉพาะบุคคลได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุปกรณ์การแพทย์ เกษตร เฟอร์นิเจอร์ และทุกอุตสาหกรรม
นายเกรียงไกร วังวิจิตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเคที. เอ็มบรอยเตอรี่ จำกัด ผู้จำหน่ายเครื่องปักและเครื่องพิมพ์ระบบคอมพิวเตอร์ยี่ห้อ Ricoma และ Brother กล่าวถึงเทคโนโลยีด้านการผลิตที่มีการปรับตัวในปัจจุบันว่า “เทคโนโลยีการผลิตยุคใหม่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตจำนวนน้อยได้คุ้มค่า ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะของลูกค้าได้ดีขึ้น จากเดิมที่ต้องรับออเดอร์หลักร้อย ปัจจุบันสามารถผลิตเพียงหลักสิบก็ได้กำไร โดยไม่ต้องแบกสต๊อกหรือใช้ต้นทุนสูง เทคโนโลยีไม่ได้จำกัดแค่เครื่องจักร แต่รวมถึงแนวคิด
วิธีทำงาน การออกแบบ และการวางแผนที่รวดเร็วขึ้น ทำให้แม้ผู้ประกอบการรายย่อยก็สามารถเข้าถึงการผลิตคุณภาพสูงและส่งออกได้ หากไม่ปรับตัวจากรูปแบบเดิม อาจเสียเปรียบคู่แข่งที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความเร็ว ลดต้นทุน และตอบโจทย์ตลาดได้ดีกว่า ดังนั้น การใช้เทคโนโลยีอย่างเข้าใจและตรงจุด คือกุญแจสำคัญของการอยู่รอดและเติบโตในปัจจุบัน”
นางพรรณระพี โกสิยพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออซัมโด จำกัด ผู้รับผลิตเสื้อผ้า (OEM) ครบวงจรที่รับขึ้นแพทเทิร์น ตัด เย็บ สกรีน ไปถึงแพ็ค กล่าวว่า “การผลิตในยุคใหม่คือการผลิตอย่างยั่งยืน ซึ่งได้พลิกสถานะจากเดิมที่เป็นเพียงแค่ ‘ทางเลือก’ มาเป็น ‘ความจำเป็น’ อย่างแท้จริง อันเป็นผลมาจากปัจจัยรอบด้านที่เกิดเป็นแรงกดดัน ทั้งกฎระเบียบจากภาครัฐ และความคาดหวังของผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม รวมถึงความตระหนักของภาคธุรกิจเองที่เห็นถึงคุณค่าของการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม การนำแนวคิดการผลิตที่ยั่งยืนมาใช้ จึงไม่ได้เป็นแค่เพียงการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร แต่เป็นการลงทุนที่สำคัญ เพื่อความอยู่รอดและความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวของธุรกิจ อุตสาหกรรมจึงต้องปรับตัวด้วยการเร่งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ ตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การลดการใช้ทรัพยากร พลังงาน และน้ำ ไปจนถึงการจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ และลดการปล่อยมลพิษ เพื่อมุ่งสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนในอนาคต”
ด้านนางวราภรณ์ ธรรมจรีย์ กรรมการผู้จัดการ อาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ (RX TRADEX) เน้นย้ำถึงบทบาทของงาน GFT 2025 ในการเป็นศูนย์กลางของการสร้างสรรค์นวัตกรรมและโอกาสทางธุรกิจว่า
“งาน GFT ไม่ได้เป็นเพียงแค่เวทีแสดงสินค้า แต่เป็นพื้นที่ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อเป็นแหล่งบ่มเพาะนวัตกรรมและโอกาสทางธุรกิจสำหรับทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ผู้ประกอบการจะได้พบกับเทคโนโลยีและเครื่องจักรที่ทันสมัยที่สุดจากทั่วโลก ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมถึงโซลูชันด้านการผลิตแบบยั่งยืน ระบบออโตเมชัน และนวัตกรรมสิ่งทออัจฉริยะ นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมสัมมนา เวิร์กช็อป และการจับคู่ทางธุรกิจ ที่จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับข้อมูลเชิงลึก สร้างแรงบันดาลใจ และเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ ๆ ที่จะขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตในยุคดิจิทัลและเศรษฐกิจหมุนเวียน งาน GFT 2025
จึงเป็นงานที่พลาดไม่ได้สำหรับทุกคนที่อยู่ในวงการสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มและทุกวงการที่ผลิตสินค้าด้วยสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มอย่างแท้จริง”
นอกจากผู้แสดงสินค้ากว่า 200 แบรนด์จากหลายประเทศแล้ว ภายในงาน GFT มีส่วนแสดงพิเศษที่น่าสนใจ ได้แก่ Functional Textile นำเสนอนวัตกรรมสิ่งทอคุณสมบัติพิเศษที่หลากหลาย ทั้งผ้าระงับเชื้อแบคทีเรียและเส้นใยจากญี่ปุ่นที่เพิ่มความเย็นและทนทาน My Style พื้นที่ของผู้รับผลิต (OEM และ ODM) คุณภาพระดับมืออาชีพที่รับผลิตออร์เดอร์ทุกขนาด ใหญ่ กลาง เล็ก Soft Power & Sustainability พื้นที่จัดแสดงผ้ารักษ์โลกจากเส้นใยธรรมชาติเช่น ใยปอ ใยกล้วย ลินิน ฝ้าย ของสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ รวมถึงกิจกรรมที่น่าสนใจ ทั้ง เวที “GFT Inspire” เวทีสัมมนาจากวิทยากรผู้คร่ำหวอดในวงการและนักธุรกิจคลื่นลูกใหม่ในหลายหัวข้อ ตั้งแต่กฎหมายแฟชั่นไปถึงการสร้างแบรนด์ กิจกรรมเวิร์กช็อปที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้เปิดประสบการณ์สัมผัสถึงประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักรรุ่นใหม่ ๆ ได้อย่างใกล้ชิดและได้ผลิตเสื้อที่มีตัวเดียวในโลก
งาน GFT 2025 จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 26 กรกฎาคม 2568 ณ ฮอลล์ 100 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ลงทะเบียนหน้างานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมร่วมกิจกรรมสนุกรับของที่ระลึกจากผู้แสดงสินค้ามากมาย ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมของงาน GFT 2025 ได้ที่ www.gftexpo.com สอบถามเพิ่มเติมติดต่อ โทร. 0 2686 7222