คปภ. เดินหน้ายกระดับการกำกับดูแล เสริมเกราะธุรกิจประกันภัยไทย สู่มาตรฐานสากล

สำนักงาน คปภ. เดินหน้าขับเคลื่อนการยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยไทยอย่างเป็นระบบ ผ่านการจัดงานสัมมนา “การยกระดับการกำกับดูแล และตรวจสอบธุรกิจประกันภัย” เพื่อเสริมสร้างความพร้อมให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับกลไกการกำกับดูแล อาทิ คณะกรรมการตรวจสอบ หน่วยงานตรวจสอบภายใน หน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติ ตามกฎหมาย จากทั้งบริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต และผู้บริหารสำนักงาน คปภ. เข้าร่วมกว่า 400 คน เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2568 ณ CDC Ballroom กรุงเทพมหานคร

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ คปภ. เป็นประธานเปิดงานสัมมนา ได้กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้ ไม่เพียงแต่เป็นการสื่อสารเชิงนโยบาย แต่เป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่าง สำนักงาน คปภ. กับภาคธุรกิจประกันภัย เพื่อร่วมกันยกระดับการกำกับดูแลและการตรวจสอบให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ของอุตสาหกรรมประกันภัยไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาประกันภัย (TFRS17) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา   แม้ว่ามาตรฐานดังกล่าว จะช่วยเพิ่มความโปร่งใสและสะท้อนฐานะทางการเงินของบริษัทได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น แต่ก็ต้องอาศัย    ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งและการปรับตัวของทุกภาคส่วน

เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว สำนักงาน คปภ. ได้พัฒนา “กรอบการกำกับดูแล” (Supervisory Framework) และเครื่องมือสำคัญอย่าง “ระบบสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า” (Early Warning System : EWS) เพื่อใช้ในการคัดกรองและประเมินระดับความเสี่ยงของบริษัทอย่างเป็นระบบ พร้อมเน้นยํ้าถึงบทบาทของรายงาน ERM/ORSA ที่ต้องเป็นมากกว่ารายงานที่จัดทำ  เพื่อยื่นต่อสำนักงาน คปภ. แต่ต้องสะท้อนแนวคิด Risk Governance อย่างแท้จริง โดยในปีนี้ สำนักงาน คปภ. ได้กำหนดให้  ทุกบริษัทจัดทำ Risk Appetite อย่างชัดเจน เพื่อใช้เป็นกรอบการบริหารความเสี่ยง และขับเคลื่อนไปสู่การเป็นบริษัท                ในกลุ่ม 1 ตามเกณฑ์ของระบบ EWS ได้ทั้งอุตสาหกรรมประกันภัย

ขณะเดียวกัน เพื่อให้สอดรับกับโครงสร้างธุรกิจประกันภัยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการดำเนินธุรกิจในรูปแบบกลุ่ม (Group Structure) สำนักงาน คปภ. ได้เตรียมผลักดันแนวทางการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยแบบรวมกลุ่ม (Group-Wide Supervision) ในระดับ Full Consolidation ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2569 เป็นต้นไป เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการลงทุน ภายใต้กรอบการควบคุมที่รัดกุม

ภายในงานยังมีการการสะท้อนผลการประเมิน SAQ RCM และ Examination Form ตลอดจนความคาดหวังของสำนักงาน คปภ. เพื่อให้ภาคธุรกิจนำข้อมูล ไปวิเคราะห์ ปรับปรุงกระบวนการควบคุมภายใน การตรวจสอบภายใน การบริหารความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงิน และการปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างเท่าทันต่อสถานการณ์

การสัมมนาครั้งนี้เป็นกลไกสำคัญ ในการเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างสำนักงาน คปภ. กับภาคธุรกิจประกันภัยและเป็นอีกก้าวของการขับเคลื่อนระบบ การกำกับดูแลให้มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล พร้อมยืนยันว่า สำนักงาน คปภ. จะกำกับอย่างสร้างสรรค์ ควบคู่กับการตรวจสอบอย่างเข้มงวด เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบประกันภัยไทย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เอาประกันภัยและประชาชนในระยะยาว” เลขาธิการ คปภ. กล่าวทิ้งท้าย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *